UNOFFICIAL THAI TRANSLATION อัพเดท 11 มกราคม 2558
ถามตอบ: คดีอาญาและคดีแพ่ง – บริษัท เนเชอรัล ฟรุต โจทก์ ฟ้อง นายอานดี้ ฮอลล์ จำเลย
1. การฟ้องคดีเหล่านี้มีรายละเอียดอย่างไร?
อานดี้ ฮอลล์ เป็นผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านการย้ายถิ่น ฮอลล์เคยทำงานเป็นผู้ประสานงานการวิจัยให้องค์กรพัฒนาเอกชนชื่อฟินน์วอทช์ (Finnwatch) จากประเทศฟินแลนด์เมื่อ พ.ศ. 2555 ด้วยความช่วยเหลือจากทีมงานนักแปลและผู้ประสานงานท้องถิ่นเขาดำเนินการสัมภาษณ์แรงงานในประเทศไทย องค์กรฟินน์วอทช์ตีพิมพ์ผลการวิจัยจากการสัมภาษณ์ในรายงานชื่อ “สินค้าถูกมีราคาสูง” เมื่อเดือนมกราคม 2556
ตามข้อมูลที่ได้รับจากแรงงานข้ามชาติชาวพม่า รายงานกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงงานบริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บริษัท เนเชอรัล ฟรุต ตอบโต้การวิจารณ์โดยฟ้องเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งต่ออานดี้ ฮอลล์ในฐานะบุคคลธรรมดาเเละเป็นการส่วนตัวโดยไม่ได้ฟ้ององค์กรฟินน์วอทช์ในฐานะองค์กรที่เขียนรายงาน
ในเอกสารการฟ้องร้องของบริษัทเนเชอรัล ฟรุตได้อ้างอิงชื่ออานดี้ ฮอลล์ ซึ่งปรากฏในหน้าแรกของบทสรุปผู้บริหารภาษาอังกฤษในรายงานว่าเป็นหลักฐานที่เพียงพอว่าเขาเป็นผู้เขียนและมีความรับผิดชอบในการจัดทำรายงาน ทั้งยังอ้างว่าฮอลล์มีส่วนร่วมในการอัพโหลดและเผยแพร่รายงานไปยังเว็บไซต์ขององค์กรฟินน์วอทช์ แม้ว่าองค์กรฟินน์วอทช์เป็นผู้เขียนรายงานทั้งหมดและฮอลล์ไม่เคยมีสิทธิในการเข้าถึงเพื่อจัดการเว็บไซต์ขององค์กรฟินน์วอทช์ก็ตาม
บริษัท เนเชอรัล ฟรุตได้ยื่นฟ้องฮอลล์ในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยสองคดี รวมทั้งคดีหมิ่นประมาททางเเพ่งสองคดี หนึ่งในคดีหมิ่นประมาททางอาญานั้นมีการกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ร่วมด้วย การคุกคามฟ้องร้องดำเนินคดีที่ศาลนี้เปิดโอกาสให้บริษัทและรัฐบาลมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่ปิดปากผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน
2. บริษัท เนเชอรัล ฟรุต คืออะไร? มีใครเป็นเจ้าของ?
บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด เป็นบริษัทผลิตผลิตภัณฑ์สับปะรดและเป็นส่วนหนึ่งของแนทกรุ๊ปซึ่งมีบริษัทอื่นๆที่อยู่ในกลุ่ม ได้แก่ ปราฟิคและปราฟิค 2005 ซึ่งผลิตผลไม้แห้งและผลิตภัณฑ์ว่านหางจระเข้ เมื่อพ.ศ. 2555 บริษัท เนเชอรัล ฟรุต ผลิตน้ำผลไม้เข้มข้นสำหรับร้านค้าปลีกฟินแลนด์ คือ เอสโอเค (SOK) เคสโก (Kesko) และน้ำผลไม้ติดฉลากยี่ห้อเอกชนโดยทูโก โลจิสติกส์ (Tuko Logistics) (ผลิตโดย ฟินแลนด์ วีไอพี – จูซเมคเกอร์ โอวาย)
เจ้าของบริษัท เนเชอรัล ฟรุต คือ นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ เป็นพี่ชายของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เคยเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นเวลาหลายปี นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ ยังมีหลายธุรกิจอื่นๆนอกเหนือจากที่อยู่ในกลุ่มเเนทกรุ๊ป เขามีกิจการบริษัท ว่านหางจระเข้สยาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตและส่งออกว่านหางจระเข้กระป๋อง
นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ ยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมสับปะรดของไทยด้วย เขาเป็นประธานของสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย (TPIA) ที่เป็นตัวแทนบริษัทประกอบกิจการสับปะรดกว่า 60 บริษัทในประเทศไทย
3. อานดี้ ฮอลล์ คือใคร? ฟินน์วอทช์ คือใคร?
อานดี้ ฮอลล์ ถือสัญชาติอังกฤษเเละพำนักในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ช่วง พ.ศ.2556 จนถึงช่วงที่พาสปอร์ตของฮอลล์ถูกยึดเพราะการฟ้องคดี ฮอลล์อาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาร์เเละทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลเมียนมาร์ในประเด็นการย้ายถิ่นโดยอาศัยอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง
ฮอลล์ศึกษาด้านกฎหมายและมีความเชี่ยวชาญในประเด็นการย้ายถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เเละศึกษาในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์และมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เขาทำดุษฎีนิพนธ์เรื่องข้อเสนอทางกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบทางอาญาขององค์กรอุตสาหกรรมต่อการเสียชีวิตจากการทำงานในประเทศออสเตรเลีย แคนาดา และสหราชอาณาจักร
เมื่อพ.ศ. 2555 องค์กรฟินน์วอทช์ว่าจ้างฮอลล์เป็นนักวิจัยที่ปรึกษาและประสานงานการวิจัยภาคสนามในประเทศไทย ในโครงการขององค์กรด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากยี่ห้อของห้างค้าปลีกเองที่วางขายในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศฟินแลนด์ อานดี้ ฮอลล์จึงดำเนินการสัมภาษณ์คนงานที่โรงงานบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ตามที่ได้รับมอบหมายด้วยความช่วยเหลือจากล่ามแปลภาษาและผู้ประสานงานท้องถิ่น
องค์กรฟินน์วอทช์ เป็นองค์กรเฝ้าระวังประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในฟินแลนด์ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนา สหภาพแรงงาน และกลุ่มสิทธิผู้บริโภคในฟินแลนด์หลายองค์กร โครงการความรับผิดชอบต่อสังคมของผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากยี่ห้อของห้างค้าปลีกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยขององค์กรเกี่ยวกับงานที่มีคุณค่า (Decent Work)
4. คดีทั้งสี่ที่บริษัท เนเชอรัล ฟรุต ฟ้องอานดี้ ฮอลล์ มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง?
ก) คดีหมิ่นประมาททางอาญา – การให้สัมภาษณ์อัลจาซีรา
คดีแรกจากสี่คดีที่ดำเนินการถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีคือ คดีหมิ่นประมาททางอาญาจากการที่ฮอลล์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัลจาซีราที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ เมื่อเดือนเมษายน 2556 สิ่งที่ย้อนแย้งคือ คดีนี้เกิดจากการให้สัมภาษณ์เรื่องคดีที่บริษัท เนเชอรัล ฟรุตฟ้องคดีต่อฮอลล์สองคดีก่อนหน้าในปีเดียวกันหลังการเผยแพร่รายงานของฟินน์วอทช์ (ดูข้างล่าง)
บริษัท เนเชอรัล ฟรุตอ้างว่าฮอลล์เจตนาทำร้ายชื่อเสียงของบริษัทโดยการพูดและ / หรือเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ การพิจารณาคดีมีการสืบพยานตั้งแต่วันที่ 2-10 กันยายน 2557 ที่ศาลจังหวัดพระโขนง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากข้อบกพร่องที่เจ้าพนักงานอัยการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ต่อมาศาลได้คืนพาสปอร์ตสหราชอาณาจักรให้แก่ฮอลล์ ซึ่งได้ยึดไว้ตามเงื่อนไขของการประกันตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
อัยการสูงสุดของไทยและบริษัท เนเชอรัล ฟรุต อุทธรณ์เรื่องความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งยกฟ้องไปยังศาลอุทธรณ์เมื่อเดือนมกราคม 2558 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ให้ยกอุทธรณ์
อย่างไรก็ตาม เนเชอรัล ฟรุต และอัยการสูงสุดสามารถหาทางยื่นอุทธรณ์คำสั่งยกอุทธรณ์ของศาลอุทธรณ์นี้ต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไทย คดีที่ถูกยกฟ้องสองครั้งยังสามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้หากได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดหรือศาลชั้นต้น คดีนี้ปรากฎว่ามีการยื่นขออุทธรณ์ต่อศาลฎีกาไปยังอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับที่ดำเนินคดีกับฮอลล์ และได้รับอนุญาตในเดือนพฤศจิกายน 2558 จากนั้นทั้งอัยการสูงสุดและเนเชอรัล ฟรุตก็ได้ยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดเวลาพิจารณาคดีในศาลฎีกา
ข) คดีหมิ่นประมาททางอาญาและอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ฯ – รายงานฟินน์วอทช์
หลังจากการไต่สวนมูลฟ้องจำนวน 7 ครั้งระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 ถึง 20 กรกฎาคม 2558 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ตัดสินให้ดำเนินคดีอาญาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2558 ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา และการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ตามที่เนเชอรัล ฟรุต ยื่นฟ้องอานดี้ ฮอลล์ การฟ้องร้องดำเนินคดีเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานของฟินน์วอทช์ชื่อ “สินค้าถูกมีราคาสูง” (Cheap Has a High Price)
อานดี้ ฮอลล์ จะถูกแจ้งข้อหาอย่างเป็นทางการสำหรับคดีเหล่านี้ในชั้นพิจารณาคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง (ห้องพิจารณาคดี 501) ในวันที่ 18 มกราคม 2559 เวลา 9.00 น. อานดี้ ฮอลล์จะเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี และจะยืนยันปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่ศาลสั่งฟ้อง ก่อนหน้านั้นในวันที่ 13 มกราคม 2559 เวลา 9:00 น. ฮอลล์จะเข้ามอบตัวต่อศาลขณะที่รอการยื่นขอประกันตัว
การแจ้งข้อหาดังกล่าวเดิมกำหนดไว้ในเดือนตุลาคม 2558 แต่ต้องเลื่อนเป็นเดือนมกราคม 2559 เนื่องจากการส่งหมายเรียกของศาลให้แก่ฮอลล์ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายโดยส่งไปที่อยู่ที่ถูกต้อง
การพิจารณาคดีนี้คาดว่าจะเริ่มขึ้นหลังจากนี้ ในปี 2559 ข้อหาเหล่านี้มีโทษจำคุกรวมกันสูงสุดถึง 7 ปี
ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องในการพิจารณาคดีนี้ บริษัท เนเชอรัล ฟรุต ได้นำพยานเข้าให้การต่อศาลเพื่อโน้มน้าวให้ศาลตัดสินสั่งพิจารณาคดี ในขณะที่ฝ่ายจำเลยมีโอกาสเพียงซักค้านพยานของฝ่ายอัยการโจทก์เท่านั้น อานดี้ ฮอลล์ไม่ได้เข้าร่วมการไต่สวนมูลฟ้อง แต่ได้แต่งตั้งทนายความเป็นตัวแทนเข้าซักค้านพยานโจทก์แทนตนเอง พยานโจทก์นี้รวมถึงฝ่ายจัดการโรงงานบริษัท เนเชอรัล ฟรุต เจ้าของบริษัท แรงงานข้ามชาติ นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
ค) คดีหมิ่นประมาททางแพ่ง / เรียกค่าเสียหาย – รายงานฟินน์วอทช์
บริษัท เนเชอรัล ฟรุต ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 300 ล้านบาทจากอานดี้ ฮอลล์ จากการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานของฟินน์วอทช์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้รับฟ้อง
การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ล้มเหลว ศาลแพ่งจังหวัดนครปฐมเลื่อนการพิจารณาคดีนี้จนกว่าการพิจารณาคดีในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาและอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (ข้อ ข) ข้างต้น) ที่เกี่ยวกับรายงานฟินน์วอทช์จะเสร็จสิ้น
) คดีหมิ่นประมาททางแพ่ง / เรียกค่าเสียหาย – การให้สัมภาษณ์อัลจาซีรา
นอกจากนี้บริษัท เนเชอรัล ฟรุต ยังฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย 100 ล้านบาทจากการที่อานดี้ ฮอลล์ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัลจาซีราที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ (คดี ก.)
การพิจารณาคดีครั้งแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ที่ศาลจังหวัดพระโขนง ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งที่สอง มีรายงานว่าโจทก์รายงานต่อศาลว่ายังส่งหมายเรียกแก่นายฮอลล์ในประเทศเมียนมาร์ไม่สำเร็จ การพิจารณาคดีครั้งที่สามที่เดิมกำหนดเป็นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 เพื่อให้มีเวลาเพียงพอสำหรับการส่งหมายเรียกให้ฮอลล์ในประเทศเมียนมาร์ ได้ลื่อนไปอีกเป็นวันที่ 25 มกราคม 2559
5. ข้อค้นพบจากกรณีบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ในรายงานของฟินน์วอทช์เป็นเท็จหรือไม่?
รายงาน”สินค้าถูกมีราคาสูง”ที่ตีพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2556 มาจากการสัมภาษณ์แรงงานงานในโรงงานบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ตามจรรยาบรรณการวิจัยของฟินน์วอทช์ ทางองค์กรได้ติดต่อบริษัท เนเชอรัล ฟรุต หลายครั้งในระหว่างระหว่างดำเนินการเพื่อตรวจสอบข้อมูล ทั้งทางอีเมล์ โทรศัพท์ และโทรสาร แต่บริษัทฯปฏิเสธที่จะตอบและหารือกับฟินน์วอทช์เกี่ยวกับข้อค้นพบจากการสัมภาษณ์ก่อนที่จะตีพิมพ์รายงาน นอกจากนี้ จรรยาบรรณของฟินน์วอทช์ยังเปิดโอกาสให้บริษัท เนเชอรัล ฟรุต สามารถส่งถ้อยแถลงของตนต่อรายงานมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ของฟินน์วอทช์ได้หลังจากรายงานตีพิมพ์แล้ว เเต่บริษัทฯ ก็ไม่เคยร้องขอเช่นนั้น
ฟินน์วอทช์มิใช่องค์กรเดียวที่ดำเนินการตรวจสอบสภาพการทำงานในบริษัท เนเชอรัล ฟรุต นางสาวฮันนา นิคคาเนน นักข่าวอิสระที่ได้รับรางวัลได้ดำเนินการสัมภาษณ์อดีตคนงานของบริษัท เนเชอรัล ฟรุตต่างหากโดยแยกเป็นอิสระจากงานวิจัย และนิตยสารApu ได้ตีพิมพ์บทความของนิคคาเนนที่ประเทศฟินแลนด์ในวันเดียวกันกับที่ฟินน์วอทช์ตีพิมพ์รายงานเมื่อพ.ศ. 2556 สำนักข่าวอัลจาซีรายังได้สัมภาษณ์คนงานที่หนีออกจากบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ด้วย ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 นักข่าว Yle จากฟินแลนด์ได้ผลิตสารคดีเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับอานดี้ ฮอลล์ และได้สัมภาษณ์คนงานที่เคยทำงานให้เนเชอรัล ฟรุต บริษัทฯปฏิเสธไม่ให้ Yle สัมภาษณ์
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 หลังจากที่ฟินน์วอทช์ได้ตีพิมพ์รายงาน และประมาณสามเดือนหลังจากการวิจัยภาคสนามเสร็จสิ้น และฟินน์วอทช์ได้เเจ้งผลการวิจัยไปยังหน่วยงานไทยและบริษัท เนเชอรัล ฟรุต แล้ว เจ้าหน้าที่แรงงานไทยได้เข้าตรวจสอบโรงงานบริษัท เนเชอรัล ฟรุต รายงานการตรวจสอบแรงงานที่ถูกอ้างถึงอย่างมากในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งแรกของฮอลล์เมื่อเดือนกันยายน 2557 กล่าวถึงข้อบกพร่องหลายประการในโรงงาน ได้แก่ การหักค่าจ้างผิดกฎหมายจากเงินเดือน การทำงานล่วงเวลาเป็นระยะเวลานานเกินกว่ากฎหมายกำหนด บริการสุขาภิบาลไม่เพียงพอ และมีการจำกัดการใช้ห้องสุขา แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดถูกดำเนินการให้เกิดความยุติธรรมแก่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ถูกกล่าวหาว่าเกิดขึ้นในโรงงานของบริษัท เนเชอรัล ฟรุต
เมื่อพ.ศ. 2557 ฟินน์วอทช์ได้เผยแพร่รายงานต่อเนื่องซึ่งติดตามสภาพการทำงานในบริษัท เนเชอรัล ฟรุต รายงานฉบับหลังระบุว่ายังปรากฏปัญหาสิทธิแรงงานในโรงงาน เนื่องจากอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี นายฮอลล์จึงไม่ได้มีส่วนร่วมในโครงการวิจัยนี้ บริษัท เนเชอรัล ฟรุต ให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานต่อเนื่องนี้อย่างสั้นๆ โดยการปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมาย
6. ข้อกล่าวหาของบริษัทเนเชอรัล ฟรุต เป็นจริงหรือไม่?
บริษัท เนเชอรัล ฟรุต กล่าวหาว่าอานดี้ ฮอลล์จงใจให้ร้ายบริษัทฯและก่อให้เกิดความสูญเสียทางการเงิน อันเนื่องมาจากข้อกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานและเป็นเท็จ
ในระหว่างการพิจารณาคดีเมื่อเดือนกันยายน 2557 ฮอลล์แสดงหลักฐานต่อศาลว่าเขาไม่ได้ดำเนินการเพราะแรงจูงใจส่วนตัวหรือมีเจตนาคิดร้ายต่อบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ผู้วิจัยไม่เคยพบเจ้าของหรือผู้บริหารของบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ไม่เคยได้รับในการติดต่อใดๆหรือมีความขัดแย้งกับโรงงานมาก่อนที่จะดำเนินการศึกษาภาคสนามให้กับฟินน์วอทช์ ฟินน์วอทช์ได้รับชื่อและที่อยู่ของบริษัท เนเชอรัล ฟรุต จากห้างค้าปลีกเอสโอเค ประเทศฟินแลนด์ เพื่อดำเนินการตรวจสอบความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการสุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ติดฉลากของห้างค้าปลีกที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศฟินแลนด์
ฮอลล์เเสดงหลักฐานต่อศาลให้เห็นว่าถ้าบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ได้รับความเดือดร้อนสูญเสียทางการเงินก็เป็นเพราะการกระทำของบริษัทเอง อีกทั้งคำแนะนำแรกในรายงาน “สินค้าถูกมีราคาสูง” เรียกร้องให้บริษัทที่ดำเนินการซื้อขายกับบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ยังคงคำสั่งซื้อต่อไป แต่ให้ใช้โอกาสนี้เพื่อผลักดันการปรับปรุงสภาพการทำงานที่บริษัท เนเชอรัล ฟรุต ห้างค้าปลีกเอสโอเคจากฟินแลนด์เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2556 และได้พบกับบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ในระหว่างการเยือน เอสโอเคขอให้บริษัท เนเชอรัล ฟรุต ตกลงให้มีการตรวจสอบความรับผิดชอบต่อสังคมโดยบุคคลที่สาม แต่บริษัท เนเชอรัล ฟรุตปฏิเสธ บริษัทโปรดาลิม (Prodalim) ประเทศอิสราเอลได้แจ้งให้ฟินน์วอทช์ว่า บริษัทได้หยุดซื้อสินค้าจากบริษัท เนเชอรัล ฟรุต เพราะบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ไม่ยินยอมให้ดำเนินการตรวจสอบโดยบุคคลที่สาม
7. ถ้าศาลตัดสินว่าอานดี้ ฮอลล์ มีความผิด จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
หากศาลพิพากษาว่าอานดี้ ฮอลล์ ผิดจริง เขาจะต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าปรับ และต้องถูกส่งตัวไปเรือนจำ บริษัท เนเชอรัล ฟรุต เรียกร้องค่าเสียหายกว่า 7 ล้านยูโร และข้อหาทางอาญาที่ฮอลล์ถูกดำเนินคดีมีโทษจำคุกสูงสุด 8 ปี
8. อานดี้ ฮอลล์ จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในประเทศไทยหรือไม่?
มีหลายเหตุผลที่เป็นที่น่าสงสัยว่าอานดี้ ฮอลล์ จะไม่ได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในประเทศไทย
การพิจารณาคดีข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาจากการให้สัมภาษณ์อัลจาซีราเต็มไปด้วยปัญหามากมาย ทั้งที่ได้ข้อยุติในชั้นพิจารณาขั้นต้นแล้ว ศาลตัดสินให้ยกฟ้องจำเลย ด้วยเหตุว่ามีข้อบกพร่องในการดำเนินการทางคดี นอกจากนี้ยังมีการละเมิดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ดังระบุไว้ในคำตัดสินของศาล ฝ่ายจำเลยไม่มีเวลาเพียงพอที่จะเตรียมความพร้อมในคดีของตน ศาลไม่ได้รับเอกสารบางส่วนที่ศาลขอจากรัฐบาลไทย เอกสารจำนวนมากไม่เคยปรากฏในบัญชีรายการพยานหลักฐานที่ศาลเรียก นอกจากนี้ ต้องมีการหยุดพิจารณาคดีในขณะกำลังพิจารณาครั้งหนึ่งเนื่องจากการแปลภาษาไม่มีประสิทธิภาพ และเอกสารในชั้นศาลจำนวนมากมีเฉพาะภาษาไทย จึงมีเวลาไม่เพียงพอสำหรับการแปลเอกสารเพื่อให้ฮอลล์เข้าใจถูกต้องและเพียงพอ พยานจำเลยที่เป็นอดีตคนงานข้ามชาติที่เคยทำงานโรงงานบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ได้รายงานเป็นทางการว่าตนถูกข่มขู่หลังจากที่ได้ให้ปากคำในศาล
สมาคมแรงงานระหว่างประเทศ IUF มอบหมายให้ศูนย์นานาชาติเพื่อสิทธิแรงงาน (ICTUR) สังเกตการณ์การพิจารณาคดีเมื่อเดือนกันยายน 2557 ทนายความ มาร์ค พลั
เก็ตต์ ผู้สังเกตการณ์การพิจารณาคดีของ ICTUR ได้สรุปในรายงานของเขาว่า อานดี้ ฮอลล์ได้แก้ต่างคดีของตนโดยสมบูรณ์และสมควรที่จะต้องได้รับการยกฟ้องด้วยเหตุหลายประการ นอกจากนี้รายงานยังพบว่ากฎหมายต่างๆที่อนุญาตให้มีการดำเนินคดีกับอานดี้ ฮอลล์ ได้นั้นไ ม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้น ในคดีนี้ศาลไทยไม่มีเขตอำนาจการพิจารณาคดี เนื่องจากการสัมภาษณ์เกิดขึ้นในต่างประเทศ
นอกจากนี้ บทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาของไทยที่อนุญาตให้ลิดรอนเสรีภาพเพื่อลงโทษในข้อหาหมิ่นประมาท ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ผู้เชี่ยวชาญอิสระขององค์การสหประชาชาติได้แสดงความกังวลว่า ข้อหาทางอาญาที่ฟ้องฮอลล์อาจเป็นผลสืบเนื่องจากการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและโดยสันติ และย่อมมีผลในทางที่สร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยและที่อื่นๆ ในการที่จะเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยองค์กรเอกชน รวมถึงบริษัทต่างๆ
9. ปฏิกิริยาในฟินแลนด์และนานาชาติต่อข้อกล่าวหาฮอลล์เหล่านี้มีอย่างไรบ้าง?
ฟินน์วอทช์เห็นว่าการดำเนินคดีกับอานดี้ ฮอลล์ เป็นการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คดีนี้เป็นที่สนใจและการพิจารณาคดีนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางโดยองค์กรระหว่างประเทศและสมาคมสิทธิแรงงานต่างๆ
องค์กรสิทธิมนุษยชนและสหภาพแรงงานทั่วโลกมากกว่า 100 องค์กรได้แสดงการสนับสนุนฮอลล์ นักกิจกรรมหลายคนได้เรียกร้องให้บริษัท เนเชอรัล ฟรุต ถอนฟ้องและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบสภาพการจ้างงานในบริษัทฯ วอล์คฟรี (Walk Free) และซัมออฟอัส (Sum Of Us) ได้ดำเนินการเรียกร้องในนามฮอลล์เเละมีผู้ลงชื่อสนับสนุนออนไลน์กว่า 100,000 คน
ยูไนเต็ดนอร์ดิค (United Nordic) Business and Social Compliance Initiative (BSCI) เเละ Ethical Trading Initiative (ETI) เรียกร้องให้อุตสาหกรรมอาหารไทยเเละบริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด ทำให้มั่นใจว่าจะถอนฟ้องคดีทั้งหมดต่อฮอลล์
สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ OHCHR ได้เรียกร้องสองครั้งให้มีการตรวจสอบประเด็นดังกล่าว
รัฐบาลของสหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ เดนมาร์ก ออสเตรีย และเยอรมัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอีกหลายรัฐบาล ได้ส่งผู้สังเกตการณ์เพื่อสังเกตการณ์การพิจารณาคดีของฮอลล์ ในชั้นศาล คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนฮอลล์ และคดีของฮอลล์ได้มีการยกขึ้นอภิปรายในการรับฟังคำให้การเกี่ยวกับประเทศไทยในรัฐสภายุโรปที่กรุงบรัสเซลล์ สมาชิกรัฐสภายุโรปหลายคนได้แสดงความสนับสนุนฮอลล์
****
ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดดู บล็อกของอานดี้ ฮอลล์ https://andyjhall.wordpress.com/ และ twitter: @atomicalandy
หรือติดต่อ:
อานดี้ ฮอลล์, นักวิจัย: โทร +66(0)846119209, andyjhall1979@gmail.com
ซอนญา วาร์เทียลา, ผู้อำนายการบริหาร, องค์กรฟินน์วอทช์: +358(0)445687465, sonja.vartiala@finnwatch.org
Page 8 of 8